เกี่ยวกับคณะเทคโนโลยีทางทะเล
เนื่องจากมหาวิทยาลัยบูรพาอยู่ในทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมในการเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลในภาคตะวันออกดังนั้นเมื่อมหาวิทยาลัยบูรพาได้ขยายวิทยาเขตเพิ่มเติมที่จังหวัดจันทบุรี คณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา จัดตั้งขึ้นจากแนวนโยบายของมหาวิทยาลัยและความร่วมมือเป็นอย่างดีของภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ในอันที่จะพัฒนาบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีทางทะเล เสริมสร้างนักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประเทศในเรื่องของการจัดการทรัพยากร ชายฝั่ง การพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มผลผลิตของทรัพยากรทางทะเล สร้างเสริม แนวคิดและแนวทางในการอนุรักษ์ทรัพยากร โดยก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสามารถเบิกใช้ได้อย่างยั่งยืน โดยหลักสูตรที่เปิดสอนเป็นหลักสูตรปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีทางทะเล และแบ่งออกเป็นสามกลุ่มสาขาวิชา ได้แก่ การเพาะเลี้ยงสิ่งมีชีวิตในทะเลเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล และการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล เริ่มเปิดรับนิสิตในปีการศึกษา ๒๕๔๔ เป็นรุ่นแรก
ที่ตั้งของคณะเทคโนโลยีทางทะเล วิทยาเขตจันทบุรี ตำบลโขมง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรีนั้น แวดล้อมไปด้วยสถานที่ที่เหมาะสมที่จะใช้ในการศึกษาและพัฒนาการเรียนการสอนที่เกี่ยวเนื่องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเลเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากจันทบุรีเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลเป็นบริเวณกว้างมีทรัพยากรชายฝั่งมากมายทั้งป่าไม้ชายเลนแนวปะการัง แนวหญ้าทะเล รวมไปถึงพื้นที่ที่เป็นปากแม่น้ำและส่วนที่เป็นรอยต่อของทะเลและชายฝั่งมากมาย นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งประมงชายฝั่งที่มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะใช้เป็นพื้นที่ในการศึกษา วิจัย และผลิตบุคลากรที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับทะเลและชายฝั่งในอนาคต
ปัจจุบันคณะเทคโนโลยีทางทะเลมีศูนย์วิจัย เทคโนโลยีทางทะเล ฟาร์มทดลอง และห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย เพื่อรองรับการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและสามารถ ให้การบริการวิชาการแก่สังคมได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นคณะเทคโนโลยีทางทะเล ยังมีความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ทั้งภายในและต่างประเทศมุ่งเพื่อเน้นในการพัฒนา งานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีทางทะเลอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงมีความร่วมมือกับต่างประเทศ ในการแลกเปลี่ยนบุคลากรและนิสิตในการศึกษาดูงาน และพัฒนาด้านการเรียนการสอนไปพร้อมกัน
วิสัยทัศน์
แนวทางในการพัฒนาองค์ความรู้ของคณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา
เป็นที่ทราบกันดีว่าการสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันจำเป็นต้องใช้ความรู้และนวัตกรรมเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการ แข่งขันของประเทศกระบวนการสำคัญที่จะก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยความรู้และนวัตกรรม ประกอบด้วยสามปัจจัยหลัก ได้แก่
- การสร้างและการได้มาซึ่งความรู้ (Knowledge Creation)
- การเผยแพร่ความรู้ (Knowledge Diffusion)
- การนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ (Knowledge Utilization)
นอกเหนือไปจากสามปัจจัยหลักเบื้องต้นปัจจัยร่วมประการหนึ่งที่สำคัญต่อการส่งเสริมกระบวนการดังกล่าวนั่นคือทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งการพัฒนา บุคลากรของประเทศเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของคณะเทคโนโลยีทางทะเล ที่มุ่งเน้นในการผลิตวิทยาศาสตรบัณฑิตด้านเทคโนโลยีทางทะเลเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประเทศที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว แม้ว่าในเบื้องต้นงานวิจัยส่วนใหญ่ของคณะจะยังคงมุ่งเน้นอยู่ในเรื่องของการวิจัยพื้นฐาน ( BasicResearch ) ในเรื่องที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีทางทะเล แต่ในอนาคตความมุ่งหวังของคณะเทคโนโลยี ทางทะเล ต้องการที่จะพัฒนาแนวทาง ในงานวิจัยไปสู่การวิจัยประยุกต์ ( Applied Research ) เพื่อสร้างนวัตกรรมโดยแบ่งออกเป็นสามด้านหลัก ได้แก่
- เทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล (Marine Biotechnology)
- เทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล (Marine Resource and Environmental Management Technology)
- เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสิ่งมีชีวิตในทะเล (Marineculture Technology)
การศึกษาวิจัยของคณะเทคโนโลยีทางทะเลจะมุ่งเน้นการต่อยอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกับความต้องการในการใช้ประโยชน์การผลิต และการบริการทางทะเล ที่ประเทศไทยมีศักยภาพเป็นสำคัญ อีกทั้งแสวงหาความร่วมมือกับสถาบันและองค์กรต่างๆ ทั้งในภาครัฐและเอกชนในการพัฒนางานวิจัยและการสร้างนวัตกรรม รวมถึงการผลิตทรัพยากรบุคลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีศักยภาพและทักษะที่สามารถสนับสนุนการแข่งขันและการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต
การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของประเทศจากการเคลื่อนตัวโดยเศรษฐกิจที่พึ่งพาปัจจัยการผลิตและอุตสาหกรรมการผลิตที่มุ่งเน้นการแสวงหาผลประโยชน์จากความได้ เปรียบในเรื่องของความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและค่าจ้างแรงงานถูกซึ่งเป็นตลาดที่มีคู่แข่งขันมากและเน้นการแข่งขันด้านราคาโดยเฉพาะคู่แข่งที่เป็นประเทศ กำลังพัฒนาซึ่งมีอยู่หลายประเทศในโลก ดังนั้นการพัฒนาการศึกษาวิจัยและการผลิตบุคลากรที่มีทักษะในการศึกษาวิจัยที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม โดยต่อยอดฐานความรู้เดิมที่มี อยู่ผนวกเข้ากับความรู้และเทคโนโลยีที่รับมาจากประเทศต่างๆ เป็นจุดอ่อนหนึ่งของการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของประเทศที่จำเป็นต้องเร่งแก้ไขเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน ในแบบที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าขององค์ความรู้ไปสู่การผลิตสินค้าและบริการใหม่ๆเป็นกระบวนการสนับสนุนที่สำคัญที่จะเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการในแบบที่เพิ่มสูง กว่า(Less for More) และให้ส่วนต่างของกำไรที่สูงมากยิ่งขึ้นกว่าการเคลื่อนตัวในระบบเดิม
ในระยะ ๕ ปี ข้างหน้าสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชี้ว่าประเทศไทยควรมุ่งเน้นในสาขาเป้าหมายที่ได้รับการวิเคราะห์จากกรอบ การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีทางทะเลมีอยู่หลายประเด็น อาทิ ในภาคอุตสาหกรรม เช่น พลังงานชีวภาพ ( Bio-energy ) วัสดุชีวภาพ ( Bio-materials ) และโภชนเภสัชภัณฑ์ ( Nutraceuticals )ในภาคเกษตรเช่นกุ้งอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ในภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว ซึ่งอาจรวมไปถึงการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม แนวคิดและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสาขาเป้าหมายเหล่านี้เป็นแนวทางหนึ่งที่นำมาใช้ในการตั้งเป้าการผลิตบัณฑิตของ คณะเทคโนโลยีทางทะเลเพื่อตอบสนองความต้องการการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศในการแข่งขันทางเศรษฐกิจต่อไป
การพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมของคณะเทคโนโลยีทางทะเล
การสร้างและได้มาซึ่งความรู้โดยมุ่งสร้างองค์ความรู้จากการศึกษาค้นคว้าวิจัยและพัฒนาโดยพิจารณาความเป็นไปได้และประโยชน์ที่จะเกิดจาก การนำความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์การนำเข้าความรู้และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยอาศัยความร่วมมือ กับนักวิจัยและคณาจารย์จากองค์กรและ สถาบันทั้งภาครัฐและเอกชน การเผยแพร่ความรู้ สนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้กับคณาจารย์และนิสิต ในการเผยแพร่ความรู้ สู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อ ระหว่างผู้สร้างและผู้ใช้ประโยชน์องค์ความรู้ โดยการจัดอบรมสัมมนาทั้งใน และต่างประเทศ รวบรวมข้อมูลจากทั้ง ภายในและภายนอกประเทศ มาใช้ประโยชน์และต่อยอดความรู้ให้มีความก้าวหน้าภายใต้ธรรมเนียมระหว่างประเทศที่ถูกต้องการใช้ประโยชน์ จาก องค์ความรู้ สร้างระบบการจัดการองค์ความรู้อย่างเป็นระบบวางขั้นตอนการนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ ( การจดสิทธิบัตร ) สร้างความร่วมมือกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนในการนำองค์ความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ ( การทำข้อตกลงผลประโยชน์จากลิขสิทธิ์ การร่วมลงทุน)
แนวทางการดำเนินการพัฒนาคณะเทคโนโลยีทางทะเล
- ๑. ด้านนโยบายในการดำเนินการ
- ๑.๑ งานบริหารนโยบายใช้การบริหารในแนวราบโดยมีคณบดีและรองคณบดีและคณาจารย์ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ประสานงาน แบ่งส่วน งานออกเป็นกลุ่มงาน มีผู้รับผิดชอบที่ได้รับการแต่งตั้ง จากคณบดีเป็นหัวหน้ากลุ่มและจัดคณะทำงานรับผิดชอบงาน แต่ละกลุ่มงาน การสนับสนุนงานบริหารทั่วไป ด้านธุรการ วิชาการ กิจการนิสิต การเงิน อาคารสถานที่ รับการสนับสนุนจากกองบริหารวิทยาเขต ซึ่งขึ้นตรงกับมหาวิทยาลัย และใช้ บริการร่วมกับคณะ และวิทยาลัยอื่นๆ ในวิทยาเขต
- ๑.๒ งานวิจัย นโยบายวิจัยของคณะเทคโนโลยีทางทะเล แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ
- ๑.๒.๑ งานวิจัยพื้นฐานที่จะก่อให้เกิดการต่อยอดเป็นองค์ความรู้
- ๑.๒.๒) งานวิจัยที่ต่อยอดองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และพัฒนาไปสู่การสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและ สังคมโดยรวมโดยในเบื้องต้นให้มีสัดส่วน ๑:๑ และเพิ่มสัดส่วนของการวิจัยต่อยอดขึ้นทุกปี เพื่อให้มีสัดส่วนเป็น ๒:๓ และมุ่งเน้น ๓ แนวทางหลัก เพื่อให้สอดคล้องกับการเตรียมการขยายสาขา ในอนาคตได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล ( Marine Biotechnology ) เน้นการสกัดสาร ชีวภาพ จากทรัพยากรในทะเลเพื่อการใช้ประโยชน์ ทางโภชนเภสัชภัณฑ์ ( Nutraceuticals ) เทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ทางทะเล ( Marine Resource and Environmental Management Technology) เน้นศึกษาการเปลี่ยนแปลงปริมาณและคุณภาพ น้ำดินและทรัพยากรชายฝั่ง การเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อนิเวศในทะเลที่สำคัญ เช่น แนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล ป่าชายเลน และการกัดเซาะ ชายฝั่ง การปรับปรุงฟื้นฟ ูทรัพยากรทางทะเลเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเล ( Mariculture Technology ) เน้นศึกษาการควบคุมรักษา โรคสัตว์ทะเล การเพาะเลี้ยงสัตว์และพืชทะเลสวยงาม การเพาะเลี้ยงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในทะเล
- ๑.๓ งานบริการวิชาการ นโยบายในการบริการวิชาการ มุ้งเน้นตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น การสร้างความร่วมมือและการเป็นสื่อกลาง ในการประสานงานระหว่างกลุ่ม องค์กร สถาบัน เพื่อการบูรณาการ รับจ้างวิจัยประเมินผลกระทบทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล
- ๑.๔ งานประกันคุณภาพ นโยบายการประกันคุณภาพเพื่อนำผลการดำเนินการมาใช้ใน การปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้เกิด ประสิทธิภาพและเป็นไปตามมาตรฐาน
- ๑.๕ งานกิจการนิสิต นโยบายมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตในทักษะ ๕ ด้าน ได้แก่
- ๑) ทักษะในด้านความคิดสร้างสรรค์ (Creative Skill)
- ๒) ทักษะในการติดต่อสื่อสาร (Communication Skill)
- ๓) ทักษะในการแก้ปัญหา (Problem Solving Skill)
- ๔) ทักษะในการเป็นผู้นำ (Leadership Skill)
- ๕) ทักษะในการเข้าสังคม (Social and Arts Skill)
- ๑.๖ งานพัฒนาหลักสูตร นโยบายผลิตนักศึกษาเชิงคุณภาพ เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง คงความชัดเจนทางทฤษฎี เพิ่มการฝึกทักษะ การคิดเชิง สร้างสรรค์และการปฏิบัติจริงให้มากขึ้น และปรับแนวทางการศึกษาไปสู่การเป็น Research Education Program ขยายสาขาวิชาระดับ ปริญญาตรีภาคปกติเพิ่มเป็นสามสาขา และปริญญาโทหนึ่งสาขาใน ๕ ปี (พ.ศ.๒๕๕๐-๒๕๕๕)
- ๒. ด้านความร่วมมือ คณะเทคโนโลยีทางทะเล เน้นขยายการสร้างความมือ ทั้งด้านการศึกษาการค้นคว้าวิจัย รวมไปถึงการลงทุนร่วมกับหน่วย งาน และองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งภายในและภายนอกประเทศ
- ๒.๑ ด้านการศึกษา คณะเทคโนโลยีทางทะเล มีการลงนาม ความร่วมมือเพิ่มเติมกับ สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเล มณฑลเจ้อเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน มีการแลกเปลี่ยนบุคลากรและนิสิต ในการศึกษาดูงานและทำวิจัยร่วมกัน ภายใต้ความร่วมมือ ระหว่างมหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยแพทย์เมืองเวนโชว์ คณะเทคโนโลยีทางทะเลมีส่วนสำคัญในการร่างและพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์ทางทะเลให้กับทางเวนโชว์ เมดิคอล คอเลดจ์ นอกจากนั้นยังมีโครงการในแลกเปลี่ยนคณาจารย์ และนิสิตในแต่ละปีการศึกษาอีกด้วย
- ๒.๒ ด้านการวิจัย คณะเทคโนโลยีทางทะเล มีความร่วมมือ กับหลายหน่วยงาน ภายในประเทศ เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ศูนย์วิจัยทางทะเล และชายฝั่งจังหวัดระยอง ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ เป็นต้น
- ๒.๓ ด้านการลงทุน คณะเทคโนโลยีทางทะเล มีการลงนามความร่วมมือกับบริษัทเอกชน ในการศึกษาวิจัยทดสอบประสิทธิภาพสินค้า และ ผลิตภัณฑ์ รวมถึงการตรวจโรค การให้การรับรองมาตรฐานต่างๆ ควบคู่ไปกับการรับจ้างวิจัย
- ๓. ด้านทรัพยากรมนุษย์คณะเทคโนโลยีทางทะเลได้รับความอนุเคราะห์จากนักวิชาการที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ เป็นที่ปรึกษาของคณะ ส่วนบุคลากรภายในคณะภายใน ๕ ปีนี้ คณะเทคโนโลยีทางทะเลจะมีสัดส่วนของคณาจารย์วุฒิปริญญาเอก/โท มากกว่า ๒/๓ รวมทั้งสัดส่วนของผู้ ดำรงตำแหน่งทางวิชาการในระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ต่อคณาจารย์ทั้งหมดไม่ต่ำกว่า ๒/๕
- ๔. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน คณะเทคโนโลยีทางทะเล จัดการเรียนการสอนที่วิทยาเขตสารสนเทศจันทบุรี มหาวิทยาลัยบูรพา โดยทำเลที่ตั้ง ณ ตำบลโขมง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี พื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่ ที่มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหลายชนิดไม่ห่างจากชายหาดเจ้าหลาว ที่มีแนวปะการัง ชายฝั่ง ( ติดกับแผ่นดิน ) แหล่งใหญ่เพียงแห่งเดียวของประเทศ พื้นที่แนวชายฝั่งใกล้เคียงมีแนวป่าชายเลน จำนวนมากที่ตั้งของคณะอยู่ไม่ไกล จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน ซึ่งสถานที่ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นพื้นที่ที่เหมาะต่อการใช้ เป็นพื้นที่ศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะให้กับนิสิตได้ เป็นอย่างดี ปัจจุบันคณะมีห้องปฏิบัติการรองรับการเรียนการสอนวิชาพื้นฐานในหลักสูตรอย่างเพียงพอและนอกจากนั้นยังมีศูนย์ปฏิบัติการเทคโนโลยีทางทะเล ที่ประกอบไปด้วยส่วนของห้องปฏิบัติการ และฟาร์มทดลองที่มีบ่อดิน มากกว่า ๔๐ บ่อ ซึ่งสามารถรองรับการศึกษาวิจัย ของนักศึกษา ปริญญาตรี และปริญญาโททั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย มีหอพักที่พร้อมที่จะรองรับนักศึกษา ที่จะเข้ามาศึกษาวิจัยอย่างเพียงพอ นอกจากนั้น ด้วยการสนับสนุนจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้มีการจัดตั้งศูนย์เพิ่มจำนวนพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุ้งลาดำเพิ่มขึ้นอีกด้วย
การสร้างฐานความรู้
คณะเทคโนโลยีทางทะเล จัดให้มีการสร้างฐานความรู้ ให้กับนิสิตโดยปรับปรุงจากมิติทั้ง ๗ ในแนวทางการพัฒนาองค์ความรู้ และระบบ นวัตกรรมของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในปี ๒๕๔๙ โดยเน้นการสร้างถ่ายทอด แพร่กระจาย จัดการ และต่อยอดองค์ความรู้ ให้เป็นไปตามเป้าหมายของประเทศ เพื่อการแข่งขันอันนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและความยั่งยืน พัฒนาฐานความรู้ ที่เรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ ทั้งจากคณาจารย์ และบุคคลภายนอก สามารถสร้างการเรียนรู้ ที่มีปฏิสัมพันธ์กัน เชื่อมโยงและบูรณาการความรู้ต่างๆ เพื่อนำมาใช้ ประโยชน์ได้ส่งเสริมศักยภาพในการศึกษาค้นคว้ารูปแบบต่างๆ เชื่อมโยงความรู้มาใช้ในการแก้ปัญหาให้กับสังคมสร้างการเรียนรู้จากประสบการณ์ ตรง การทำความเข้าใจ กับวัฒนธรรมรอบตัว และรู้จักการปรับใช ้ และท้ายที่สุดสามารถจัดลำดับ ขั้นตอนการเรียนร ู้จากการมองปัญหารวบรวม ข้อมูล ศึกษาวิจัย วางแนวทาง แก้ไขปรับปรุงไปจนถึงการสร้างปัญญาให้เกิดขึ้น
อัตลักษณ์
บัณฑิตมีความรอบรู้และสามารถนำไปประยุกต์ในศาสตร์เทคโนโลยีทางทะเล
เอกลักษณ์
เรียนรู้คู่ปฏิบัติจริง
ปรัชญาการศึกษาของมหาวิทยาลัยบูรพา
“มุ่งพัฒนาผู้เรียนด้วยกระบวนการ เรียนรู้ควบคู่การปฏิบัติให้เกิดประสบการณ์
ที่เน้นสภาพแวดล้อมการทำงานจริง ให้เป็นผู้มี สมรรถนะที่สนองตอบการเปลี่ยนแปลงของโลก
มีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม สามารถเป็นผู้ที่ เรียนรู้ได้ตลอดชีวิต”
ปรัชญาของหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีทางทะเล
“มุ่งสร้างบัณฑิต ที่มีความรู้ และความสามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการจัดการทรัพยากร
สิ่งแวดล้อมทางทะเล และการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ รวมทั้งมีคุณลักษณะความเป็นผู้ประกอบการ
และเป็นผู้สร้างหรือร่วมสร้างนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีทางทะเล ที่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด และยั่งยืน ทันต่อการเปลี่ยนแปลงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี
เป็นบัณฑิตที่พร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรมในการประกอบอาชีพ และต่อสังคม”
บทบาทและพันธกิจ
- ด้านการผลิตบัณฑิต คณะเทคโนโลยีทางทะเลมุ่งผลิตบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเล ซึ่งนับเป็นสาขาวิชาที่ขาดแคลนสอดคล้องกับความต้องการ กำลังกำลังคนของประเทศ โดยพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรให้มีศักยภาพสูงในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ
- ด้านการวิจัย คณะเทคโนโลยีทางทะเล มุ่งเน้นการวิจัยเชิงประยุกต์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมในท้องถิ่นสามารถนำองค์ความรู้ใหมได้จากการวิจัยและ ผลงานทางวิชาการ มาพัฒนาสังคมให้มีศักยภาพในการแข่งขันกับภูมิภาคต่างๆของประเทศขณะเดียวกันยังมุ่งวิจัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการ ใช้ทรัพยากรตลอดจนฟื้นฟูและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้คงสภาพสมดุลของระบบนิเวศวิทยาในระยะยาว
- ด้านการบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี เป็นสถาบันอุดมศึกษาในส่วนภูมิภาค มีวัตถุประสงค์ในการกระจายโอกาสทางการศึกษา ระดับอุดมศึกษาไปสู่ส่วนภูมิภาค ดังนั้น วิทยาเขตสารสนเทศจันทบุรี จึงมีบทบาทและพันธกิจในด้านการให้บริการวิชาการแก่ชุมชน ไม่เพียงเฉพาะ ในจังหวัดจันทบุรีเท่านั้นยังครอบคลุมการให้บริการ กับจังหวัดในภูมิภาคตะวันออกด้วยโดยการให้บริการวิชาการจะเป็นสาขาที่วิทยาเขต มีความเชี่ยวชาญและเป็นประโยชน์ต่อชุมชนในการนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาหน่วยงานและสังคมให้มีศักยภาพ ตลอดจนเป็นศูนย์ประสานงานในด้านการอบรมให้ความรู้ การใช้เครื่องมือที่ทันสมัยตามที่ชุมชนและสังคมต้องการ
- ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี มีนโยบายในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ให้คงอยู่และเป็นเอกลักษณ์ของชาติสืบไป โดยการสนับสนุนและให้ความร่วมมือ ในการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมตลอดจนผลิตบัณฑิตให้มีจิตสำนึกในคุณค่าของวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นค่านิยมที่พึงประสงค์ และคุณค่าที่ยั่งยืนที่ จะให้เกิดกับบุคคลและองค์กร